วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Introduction to Fundamental Analysis

Fundamental Analysis 
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นการวิเคราะห์หลักทรัพย์ (หุ้น) รูปแบบหนึ่ง โดยใช้การพิจารณาลำดับของเศรษฐกิจมายังภาคอุตสาหกรรมและของตัวบริษัทมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทนั้นๆ

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานถือว่าการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจจะส่งผลต่อผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำไรของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับราคาหลักทรัพย์ของบริษัทนั้นเอง



ขั้นตอนในการวิเคราะห์ปัจจัยพิ้นฐานเบื้องต้นมี 3 ข้อ ดังนี้

1. การวิเคราะห์เศรษฐกิจภาพรวม (Economic Analysis)
องค์ประกอบที่ใช้วัด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้ผลิต อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย  รวมไปถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล นโยบายการคลัง นโยบายการเงิน ตลอดจนความมั่นคงทางการเมือง และทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลก 

ในการสังเกตและวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจสามารถพิจารณาได้จากวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง แบ่งออกได้เป็น
  • ภาวะรุ่งเรือง (Boom)
  • ภาวะถดถอย (Slump/Recession)
  • ภาวะตกต่ำ (Gloom/Depression)
  • ภาวะฟื้นตัวใหม่ (Recovery/Revival)
  • ภาวะขยายตัว (Expansion)
Business Cycle

2. การวิเคราะห์อุตสาหกรรม (Industry Analysis) 
เน้นการวิเคราะห์ Industry Life Cycle คือ การพิจารณาถึงวงจรอุตสาหกรรมที่เราสนใจ สภาพการตลาด การแข่งขัน และคาดการณ์อนาคตว่าจะมีอัตราการเติมโตอย่างไร

3. การวิเคราะห์บริษัท (Company Analysis)
เป็นการวิเคราะห์ที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นการวิเคราะห์เพื่อเลือกบริษัทที่จะลงทุน 
การวิเคราะห์นี้เป็นทั้งศาตร์และศิลป์ โดยจะวิเคราะห์ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ

  • การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ  (Qualitative Analysis)  ได้แก่ ธรรมาภิบาลของผู้บริหาร รวมไปถึงประสบการณ์ ความน่าเชื่อถือของผู้บริหารและบุคลากร ความสามารถด้านการตลาด การผลิต การบริการ การวิจัยและพัฒนาต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยประสปการณ์ การสังเกต การรวมรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆของผู้วิเคราะห์เป็นสำคัญ 
  • การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) ได้แก่ การวิเคราะห์จากงบการเงินทั้งในอดีตและปัจจุบันของบริษัท เพื่อนำมาประมาณการกำไรต่อหุ้นและราคาหุ้นในอนาคต และนำไปสู่การวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น (Intrinsic Value) เพื่อเทียบกับราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน (Present Value) เพื่อดูว่ามี MOS (Margin of Safety) ที่เท่าไหร่ ซึ่ง MOS นี้เองเป็นตัวกำหนดการน่าที่จะเข้าซื้อหุ้นตามความพอใจของนักลงทุนแต่ละคน ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดในโอกาสต่อไป

การวิเคราะห์ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาแล้วนั้น สามารถเรียงลำดับการวิเคราะห์ได้จากข้อ 1-2-3 หรือจากข้อ 3-2-1 ซึ่งมีชื่อเรียกและข้อสังเกต ดังนี้



  • Top - Down Approach คือ การวิเคราะห์จากภาพใหญ่ไปสู่ภาพเล็ก (จากบนลงล่าง) กล่าวคือ ใช้ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมากำหนดขอบเขตการลงทุนให้แคบลง โดยดูว่าภาวะเศรษฐิกิจช่วงนี้ดีหรือไม่อย่างไร และอุตสาหกรรมอะไรน่าจะอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น และพิจารณาเฉพาะหุ้นที่มีแนวโน้มดี น่าสนใจลงทุน จากนั้นจึงคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับราคาตลาดของหุ้น เพื่อดูว่าราคาตลาดของหุ้นสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น หรือราคาต่ำน่าเข้าซื้ออย่างไร
  • Bottom - Up Approach คือ การวิเคราะห์จากภาพเล็กไปสู่ภาพใหญ่ (จากล่างขึ้นบน) กล่าวคือ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลรายบริษัทก่อน เช่น วิเคราะห์ข้อมูลจากงบการเงิน เพื่อค้นหาหุ้นที่มีลักษณะเด่นน่าลงทุนตามเกณฑ์ที่เรากำหนดไว้ เช่น พิจารณาเปรียบเทียบราคาต่อกำไรต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E Ratio), ราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value Ratio : P/BV Ratio) หรืออัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) จากนั้นต่อไปก็จะดูแนวโน้มความน่าลงทุนในแง่ของสภาวะแวดล้อมทางอุตสาหกรรมและดูไปถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของหุ้นนั้นๆ

การวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน สามารถใช้ประโยชน์ในการคัดกรองหุ้นที่เราสนใจ และการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะช่วยจับจังหวะการเข้าซื้อขายอีกครั้งหนึ้ง


Cheers,

Hybrid Investor

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น